• Tips&Tricks

  • Knowledge

กระเบื้องยาง | วัสดุปูพื้นสุดชิคยุค 4.0

  • โดย NocNoc Writer

  • 28

เมื่อพูดถึงวัสดุปูพื้นภายในบ้านที่ทดแทนการใช้ไม้จริงในปัจจุบัน “กระเบื้องยางลายไม้” หรือ “กระเบื้องไวนิลลายไม้” จัดเป็นหนึ่งในตัวเลือกยอดนิยมของใครหลายคนไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้านหรือนักออกแบบทั้งหลาย ด้วยคุณสมบัติหลากประการที่เหนือกว่าไม้จริงจนหักล้างข้อด้อยบางอย่างได้ อย่างไรก็ดี ในหมวดหมู่กระเบื้องยางหรือกระเบื้องไวนิลยังแบ่งได้อีกหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีลวดลายอื่น ๆ นอกเหนือจากลายไม้ รวมทั้งยังมีวัสดุใหม่อย่าง “กระเบื้อง LVT” “กระเบื้อง WPC” และ “กระเบื้อง SPC” ที่ใช้งานได้หลากหลายและคงทนมากยิ่งขึ้นด้วย

เรียกว่า กระเบื้องยาง หรือ กระเบื้องไวนิล ?

ย้อนกลับไปสักประมาณช่วง 10-20 ก่อนหน้านี้ เราจะคุ้นเคยกับ “กระเบื้องยาง” ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามอาคารสาธารณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน อาคารเรียน ฯลฯ ต่อมาในช่วง 10 ปีมานี้เองที่เราเริ่มได้ยินชื่อ “กระเบื้อง PVC” บ้าง “กระเบื้องไวนิล” บ้าง “กระเบื้อง LVT” บ้าง ทั้ง ๆ ที่หน้าตาและสัมผัสอาจจะไม่ได้รู้สึกต่างจากกระเบื้องยางมากนัก

กระเบื้องยางที่พบเห็นได้ตามโรงพยาบาล
กระเบื้องยางที่พบเห็นได้ตามโรงพยาบาล
กระเบื้องยางที่พบเห็นได้ตามอาคารสาธารณะต่างๆ
กระเบื้องยางที่พบเห็นได้ตามอาคารสาธารณะต่างๆ

ไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็หมายถึงวัสดุพื้นชนิดเดียวกัน โดยจัดเป็นวัสดุในกลุ่มพอลิเมอร์ เพราะใช้ PVC เป็นส่วนประกอบหลัก (โดยคำว่า PVC นั้นย่อมาจาก Poly Vinyl Chloride) หากแต่กระบวนการผลิตและส่วนผสมต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาช่วยเพิ่มคุณสมบัติบางประการของวัสดุ เพื่อตอบโจทย์งานออกแบบและการใช้งานในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดขั้นตอนการติดตั้งอีกด้วย กระเบื้องยางบางยี่ห้อจึงเปลี่ยนชื่อเรียกวัสดุเพื่อเป็นการอัพเกรดตัวสินค้า หรือเพื่อสร้างความรู้สึกต่างแก่ผู้ใช้งานนั่นเอง ซึ่งในบทความนี้จะแนะนำให้รู้จักกันเป็นลำดับ

กระเบื้องยางที่คุ้นเคย

มาเริ่มกันที่กระเบื้องยางโดยทั่วไปกันก่อน ซึ่งจะมีรูปแบบที่พบเห็นได้ 2 แบบ แบบแรก คือ แบบแผ่น นำมาปูต่อกันเรียกว่า “กระเบื้องยางแผ่น” กับอีกแบบที่เป็นแผ่นขนาดใหญ่มาเป็นม้วนที่เรียกกันว่า “กระเบื้องยางม้วน”

ภาพบน: กระเบื้องยางแบบแผ่น
ภาพล่าง: กระเบื้องยางแบบม้วน

ชั้นบนสุด (Wear Layer) เป็นวัสดุเคลือบผิวประเภท PVC ความหนาประมาณ 0.15-0.5 มม. ช่วยทำหน้าที่ปกป้องชั้นฟิล์มดังกล่าว ซึ่งความหนาของชั้นผิวเคลือบที่มากขึ้นช่วยเพิ่มความแข็งให้กับแผ่นกระเบื้องยาง นอกจากนี้ผิวบนสุดของ Wear Layer จะเคลือบด้วย Polyurethane อีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันน้ำ รังสี UV รอยขีดข่วน และคราบสกปรกที่เกิดจากการใช้งาน รวมถึงควบคุมลักษณะความมัน เงา หรือด้านของพื้นผิวกระเบื้องยางด้วย

ชั้นกลาง (Middle/Core Layer) เป็นชั้นวัสดุหลักก็คือ ไวนิล/PVC โฟม ที่มีคุณลักษณะต่างกันไปตามแต่ละผู้ผลิตจะเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนตัว ยืดหยุ่น เหนียว นุ่ม ฯลฯ เช่น กระเบื้องยางเนื้อนุ่มจะใช้โฟมเป็นวัสดุชั้นกลาง และคืนตัวได้ดีถึงแม้จะถูกกดทับเป็นเวลานาน เป็นต้น ผิวบนของวัสดุชั้นกลางนี้จะพิมพ์หรือเคลือบฟิล์มที่มีสีและลวดลายต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสีเรียบ ลายหิน ลายไม้ ลายพื้นไม้ปาร์เกต์ ฯลฯ

ชั้นล่างสุด (Bottom/Base Layer) เป็นวัสดุไฟเบอร์กลาสซึ่งช่วยเสริมความแข็งแรง และชั้นที่เป็น ไวนิล/PVC หรือโฟม อีกชั้น ที่บางกว่าชั้นกลางเพื่อช่วยเพิ่มความคงตัวให้กันแผ่น โดยผิวล่างสุดของชั้นนี้มักจะเคลือบสาร Anti-Mould ป้องกันการเกิดเชื้อราด้วย

ทั้งสามชั้นของแผ่นกระเบื้องยางตามที่เล่ามา เมื่อรวมกันแล้วจะมีความหนาอยู่ที่ประมาณ 1.2-4.0 มม. ความหนาของแผ่นกระเบื้องยางจะส่งผลต่อการเตรียมพื้นผิวก่อนติดตั้ง โดยที่กระเบื้องยางยิ่งบางเท่าไรยิ่งต้องเตรียมพื้นผิวให้เรียบมากขึ้นเท่านั้น

กระเบื้องไวนิล LVT (Luxury Vinyl Tile)

กระเบื้อง LVT เป็นกระเบื้องที่มีภาพลักษณ์ตอบโจทย์การใช้งานในบ้านพักอาศัยมากขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกชื่อ “กระเบื้องไวนิล” ควบคู่ชื่อการเรียกชื่อกระเบื้องยางในบ้านเรา โดยมีสิ่งที่แตกต่างจากกระเบื้องยางทั่วไปอย่างเห็นได้ชัดคือผิวสัมผัสที่เลียนแบบลวดลายของฟิล์มที่พิมพ์ไว้ได้ค่อนข้างใกล้เคียง

โครงสร้างของกระเบื้องไวนิล LVT
โครงสร้างของกระเบื้องไวนิล LVT

ความหนาของชั้น Wear layer ที่เพิ่มขึ้นเป็น 0.12-0.7 มม. จึงทนต่อการเกิดรอยขีดข่วนได้ดียิ่งขึ้น และมีความหนารวมของแผ่นกระเบื้องอยู่ที่ 3-5 มม. ซึ่งแม้จะหนาขึ้นเล็กน้อยแต่ยังมีความอ่อนตัวอยู่ จึงต้องเตรียมพื้นผิวก่อนติดตั้งให้เรียบสม่ำเสมอกันเช่นเดียวกับการปูกระเบื้องยาง ทั้งนี้กระเบื้อง LVT จะมีแต่รูปแบบแผ่นที่เลียนแบบไม้ หิน เหล็กมาปูต่อกัน ไม่มีรูปแบบม้วนขนาดใหญ่อย่างกระเบื้องยางแบบเดิม กระเบื้องไวนิล LVT ในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 แบบ แบ่งตามการติดตั้ง ดังนี้

1.แบบ Dry Back หรือ Glue Down คือ การติดตั้งโดยใช้กาวทาลงบนพื้นก่อนปูกระเบื้องยาง สามารถใช้ในการติดตั้งทั้งกระเบื้องยางแบบแผ่นและแบบม้วน วิธีนี้จะติดตั้งได้เรียบร้อยและแน่นหนากว่าแบบแรก สำหรับการติดตั้งกระเบื้องยางแบบแผ่นจะเริ่มจากกลางห้องไล่ออกไปจนถึงขอบผนัง เหมาะกับพื้นที่ต่อเนื่องขนาดใหญ่ พื้นที่ภายในบ้านที่ผนังโดยรอบยังไม่เรียบร้อย มีช่องว่างที่ขอบล่างของผนัง หรือพื้นที่ที่มีการสัญจรมากอย่างอาคารสาธารณะต่าง ๆ

ต้องทากาวลงบนพื้นก่อนการติดตั้ง
ต้องทากาวลงบนพื้นก่อนการติดตั้ง

2.แบบ Peel and Stick คือ การติดตั้งโดยใช้กาวเช่นกัน แต่ต่างกับวิธีที่ 2 ตรงที่ด้านล่างหรือด้านหลังของแผ่นกระเบื้องยางจะมีชั้นกาวลักษณะเหมือนสติกเกอร์มาด้วย จึงติดตั้งได้เร็วกว่าเพราะลดขั้นตอนการทากาวบนพื้นและรอกาวเซตตัว พบในกระเบื้องยางแบบแผ่นเท่านั้น

กระเบื้องไวนิล LVT จะมีแผ่นกาว
กระเบื้องไวนิล LVT จะมีแผ่นกาว

3.แบบ Loose Lay คือ การติดตั้งโดยไม่ใช้กาว บางครั้งเรียกว่า Floating Installation ใช้ในการติดตั้งกระเบื้องยางแบบแผ่นและแบบม้วน ผิวล่างของแผ่นจะมีความหนืดเพื่อกันแผ่นกระเบื้องขยับ โดยอาจใช้กาวหรือเทปกาวสองหน้าควบคู่ด้วยตามแนวขอบห้อง/พื้นที่ เป็นวิธีการติดตั้งที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว สามารถรื้อแผ่นหรือบริเวณที่เสียหายออกเพื่อเปลี่ยนแผ่นใหม่ทดแทนได้ง่าย นิยมใช้ในงานแปลงโฉมวัสดุปูพื้น หรือห้องที่มีผิวผนังเรียบร้อยดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการติดตั้งกระเบื้องยางแบบแผ่นซึ่งปูชนชิดต่อเนื่องพอดีกัน โดยเริ่มตั้งแต่ผนังฝั่งหนึ่งจรดผนังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งหากผนังส่วนที่ติดกับพื้นมีช่องว่างอาจทำให้แผ่นกระเบื้องขยับตัวได้

4.แบบ Click-Lock คือ การติดตั้งโดยไม่ใช้กาวแต่อาศัยการล็อกกันระหว่างแผ่นกระเบื้องยาง จะพบในกระเบื้องยางรุ่นที่มีการออกแบบขอบกระเบื้องให้มีลิ้น หรือเป็นร่องเกี่ยวกัน สามารถปูบนพื้นเรียบโดยทั่วไปหรือปูแผ่นโฟมรองก่อนเพื่อช่วยเรื่องการปรับระดับพื้น หรือเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกันเสียง การติดตั้งวิธีนี้ทำได้ง่ายและรวดเร็ว แต่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่ที่ติดตั้งต่อเนื่องกันไม่มากเท่าการติดตั้งโดยใช้กาว ซึ่งขนาดที่เหมาะสมจะเป็นไปตามที่ผู้ผลิตแต่ละรายกำหนดไว้

กระเบื้องไวนิล WPC (Wood Plastic Composite)

คือกระเบื้องไวนิลที่มีชั้น Middle Layer เป็น WPC ซึ่งเป็นวัสดุผสมระหว่างผงไม้และพลาสติกอัดแน่นเข้าด้วยกัน ช่วยเพิ่มความคงตัวให้กับแผ่นกระเบื้องได้มากขึ้น

สิ่งที่แตกต่างจากกระเบื้อง LVT คือ มีความแข็งของแผ่นมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่มีความหนารวมและความหนาของชั้น Wear Layer แทบจะไม่ต่างกัน โดยมีความหนาแผ่นรวมอยู่ที่ 4-6.5 มม. และมีความหนาของชั้น Wear Layer อยู่ที่ 0.3-0.55 มม. แต่กลับไม่จำเป็นต้องเตรียมพื้นผิวก่อนติดตั้งเรียบมากนัก เพียงให้ได้ระดับก็พอ ทั้งยังมีพื้นผิวที่แข็งทนต่อแรงกดทับได้ดีกว่า มีผิวสัมผัสตามลวดลายเสมือนจริงมากกว่า ส่วนในเรื่องรูปแบบของกระเบื้อง WPC จะมีแต่แบบแผ่นมาปูต่อกันเช่นเดียวกับกระเบื้อง LVT โดยจะมีการออกแบบลิ้นและร่องลิ้นด้านข้างเพื่อติดตั้งแบบ Click Lock เท่านั้น

กระเบื้องไวนิล SPC (Stone Plastic Composite)

สามารถเรียกอีกชื่อว่า “กระเบื้อง Rigid LVT” คือกระเบื้องไวนิลที่มีชั้น Core Layer เป็น SPC ซึ่งเกิดจากการผสมกันระหว่างหินปูนบดอัดเข้ากับพลาสติก สิ่งที่ได้คือความแข็งตัวสูงและไม่มีการยืดหดตัว จึงไม่พบปัญหาการเกยกันหรือโก่งตัวของแผ่นกระเบื้องที่ใช้งานในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงหรือต่ำมาก ซึ่งอาจพบได้ในการใช้งานกระเบื้องยาง กระเบื้อง LVT รวมถึงกระเบื้อง WPC

ความหนารวมของแผ่นกระเบื้องอยู่ที่ 3-4 มม. และมีความหนาของชั้น Wear Layer อยู่ที่ 0.3-0.55 มม. เท่านั้น แต่ด้วยความแข็งของวัสดุจึงทนต่อแรงกระแทก แรงกดทับ และการขีดข่วนได้มาก เรียกว่าแทบไม่เกิดรอยให้กวนใจ ทั้งยังสามารถใช้งานในที่เปียกชื้นอย่างห้องน้ำได้สบาย ๆ โดยมีการติดตั้งแบบ Click ที่ยึดแน่นได้ดีกว่า LVT หรือ WPC อีกด้วย

ข้อดี

1.ตัววัสดุสามารถทนน้ำและทนความชื้นได้ดี ไม่นับรวมกาวที่ใช้ในการติดตั้ง ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้งานในที่ชื้น

2.หมดปัญหาเรื่องปลวก เนื่องจากไม่มีส่วนประกอบของไม้

3.ติดตั้งง่าย สามารถปูบนพื้นบ้านใหม่ หรือปูทับวัสดุเดิมเพื่อปรับโฉมให้บ้านเก่าและยังเป็นงาน DIY สำหรับเจ้าของบ้านที่มีฝีมือได้ไม่ยาก

4.ราคาไม่สูง กระเบื้อง LVT มีราคาเริ่มต้นเพียง 217 บาทต่อตร.ม. แม้ว่ากระเบื้อง WPC และกระเบื้อง SPC จะมีราคาสูงขึ้นตามลำดับคุณสมบัติที่เพิ่มเข้ามามากขึ้น แต่ก็นับว่าสมเหตุสมผลและคุ้มค่ากับการใช้งานไม่น้อย

5.ไม่มีสาร Formaldehyde

ข้อเสีย

1.สัมผัสเวลาเดินยังต่างจากไม้จริงหรือไม้ลามิเนต แม้ว่าพื้นผิว ลวดลาย ความสวยงามจะเหมือนไม้จริงแล้วก็ตาม

2.กระเบื้อง LVT จำเป็นต้องปรับพื้นให้เรียบก่อนการปูทับวัสดุเดิม เพราะวัสดุกระเบื้องยางยิ่งบางเท่าไรยิ่งต้องเตรียมพื้นผิวให้เรียบมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งหมดนี้คือวัสดุปูพื้นในหมวดหมู่กระเบื้องยางหรือกระเบื้องไวนิล อย่างไรก็ตาม เมื่อตัดสินใจเลือกใช้กระเบื้องยางหรือกระเบื้องไวนิลไม่ว่าประเภทใด สิ่งสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลย คือการศึกษาข้อมูลวัสดุอย่างจริงจัง เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของกระเบื้องยางแต่ละประเภทเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการและความใช้งานมากที่สุด รวมถึงติดตั้งให้ถูกวิธีในทุกขั้นตอนและดูแลรักษาให้ถูกวิธีด้วยนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้อง