• Others

  • Home repair

  • Knowledge

หน้าฝนไม่กังวล! ซ่อมหลังคารั่วให้ตรงจุด ช่วยปกป้องบ้านจากน้ำรั่ว

  • โดย NocNoc Writer

  • 21

Key Takeaways

  • เมื่อถึงช่วงหน้าฝน ปัญหาน้ำหยดหรือคราบน้ำเพดาน เป็นสัญญาณของหลังคารั่ว ที่ถ้าไม่รีบซ่อมแซมก็อาจลุกลามถึงโครงสร้างบ้านได้
  • เพื่อให้ซ่อมหลังคารั่วให้หายขาด ควรจะซ่อมให้ตรงกับจุดที่เป็นสาเหตุของการรั่วซึม เช่น  กระเบื้องหลังคา สันครอบ รางน้ำ หรืออุปกรณ์ยึด โดยเลือกใช้วิธีซ่อมแซมที่เหมาะสมกับต้นเหตุของปัญหา

 

ภาพ: ปัญหาน้ำรั่วจากเพดาน

พอถึงหน้าฝนแล้วฝนตกเมื่อไร ใครที่เคยเห็นคราบน้ำบนฝ้าเพดานหรือน้ำหยดในบ้าน บอกได้เลยว่าอย่านิ่งเฉย เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาหลังคารั่ว ที่นอกจากจะทำให้รำคาญใจแล้วก็ยังก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ และหากปล่อยไว้นานไปก็อาจส่งผลถึงปัญหาเชิงโครงสร้างตามมาได้ แต่การซ่อมหลังคารั่วนั้นต้องทำให้ถูกจุดตามสาเหตุที่เกิด วันนี้ตาม NocNoc ไปดูกันว่าหลังคารั่วซึมมักเกิดตรงจุดไหน เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง และจะต้องซ่อมแซมอย่างไรให้หายขาด

จุดไหนบ้างที่มักมีปัญหาหลังคารั่ว แต่ละจุดควรจะซ่อมด้วยวิธีไหน?

1. กระเบื้องหลังคา

ภาพ: กระเบื้องหลังคาแตก

กระเบื้องหลังคาเมื่อใช้ไปนาน ๆ เจออากาศที่เปลี่ยนแปลง ไหนจะฝนตก พายุเข้า ไหนจะแดดร้อน แถมยังมีลมแรงพัดกิ่งไม้ เศษวัสดุมากระแทกหลังคา ก็เป็นธรรมดาที่กระเบื้องจะเสื่อมสภาพ แตกร้าวไปตามกาลเวลา ซึ่งทำให้หลังคารั่วได้ง่าย ๆ แต่นอกจากความเสียหายตามธรรมชาติแล้ว ถ้าเลือกใช้กระเบื้องหลังคาไม่ได้มาตรฐานตั้งแต่แรก ก็จะทำให้กระเบื้องแตกก่อนเวลาอันควรได้เช่นกัน

วิธีซ่อมแซม: ถ้าเจอรอยร้าวเล็ก ๆ ไม่ใหญ่มากจนต้องรื้อกระเบื้องออกใหม่ สามารถอุดหลังคารั่วได้ด้วยกาวซิลิโคน หรือกาวอะคริลิก หรือจะใช้เทปกันซึมปิดทับก็ได้ แต่ถ้ากระเบื้องแตกร้าวเป็นวงกว้าง ควรรื้อกระเบื้องเดิมออก แล้วเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเสียใหม่ โดยไม่ลืมเลือกกระเบื้องที่มีคุณภาพ และวัดระยะให้ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมแบบต่าง ๆ มากขึ้น

2. สันครอบหลังคา

ภาพ: สันครอบหลังคาเสียหาย

นอกจากกระเบื้องมุงหลังคาแล้ว สันครอบหลังคาที่เป็นชิ้นส่วนเก็บรายละเอียดปิดรอยต่อระหว่างแผ่นกระเบื้อง ตรงจุดที่เป็นสันหลังคา ตั่ว หรือรอยต่อที่กระเบื้องบรรจบกัน ชิ้นส่วนนี้นอกจากความเสียหายตามกาลเวลาแล้ว ก็อาจมีสาเหตุจากการก่อสร้างได้เช่นกัน เพราะหากไม่ประกอบให้ดี หรืออุดปูนไว้ไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะแตกร้าว ทำให้เกิดช่องโหว่ ซึ่งเป็นสาเหตุของหลังคารั่วได้

วิธีซ่อมแซม: วิธีซ่อมหลังคารั่วบริเวณสันครอบหลังคา มีอยู่ 2 แบบด้วยกัน โดยเลือกวิธีซ่อมแซมจากวิธีติดตั้งสันครอบหลังคา โดยแบ่งได้ตามนี้

2.1 การครอบหลังคาแบบแห้ง เป็นการวางแผ่นรองใต้กระเบื้องแล้วยึดสันครอบด้วยสกรู จะช่วยลดปัญหาปูนแตกร้าว และยังซ่อมแซมง่ายกว่า เพราะถอดสันครอบเฉพาะส่วนที่คาดว่าเสียหายออกมาดูได้ โดยไม่ต้องกระเทาะปูนออก หากพบความเสียหายเล็ก ๆ ก็ใช้วัสดุอุดรอยต่อซ่อมแซมได้เลย แต่ถ้าชำรุดเป็นวงกว้างก็ควรรื้อออกและติดตั้งกันใหม่

2.2 การครอบหลังคาแบบเปียก เป็นการใช้ปูนซีเมนต์ยึดสันครอบหลังคาไว้ เมื่อต้องการซ่อมแซมจึงต้องกระเทาะปูนเก่าออก เพื่อซ่อมแซมจุดที่ต้องการ จากนั้นก็ต้องปั้นปูนประกบกับสันหลังคาใหม่อีกครั้ง หากพบความเสียหายมากควรรื้อออกและเปลี่ยนสันครอบเสียใหม่ โดยควรเปลี่ยนไปใช้แบบแห้ง เพื่อให้ง่ายต่อการบำรุงรักษา

3. บริเวณอุปกรณ์ยึด

ภาพ: สกรูยึดแผ่นหลังคา

หลังคาเมทัลชีท กระเบื้องลอนคู่ หรือสังกะสี เป็นหลังคาที่ติดตั้งโดยใช้สกรูยึดแผ่นหลังคาเข้ากับโครงสร้าง ซึ่งจุดยึดแผ่นหลังคาเหล่านี้หากไม่ได้ติดตั้งหรือทำกันซึมให้ดี ก็มีโอกาสที่จะเป็นสาเหตุของหลังคารั่วได้ เพราะถ้าไม่ได้ขันสกรูให้แน่นมากพอก็ทำให้น้ำซึมผ่านได้ หรือหากใช้งานไปนาน ๆ แหวนรองสกรูก็อาจเสื่อมสภาพ ทำให้น้ำซึมได้เช่นกัน

ภาพ: การเปลี่ยนสกรูยึดหลังคา

วิธีซ่อมแซม: ควรตรวจสอบดูที่สกรูบริเวณที่มีน้ำซึมผ่าน หากพบความเสียหายควรเปลี่ยนสกรูชุดใหม่ หรือจะเลือกใช้วัสดุทากันซึมทาทับหลังคา ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีอุดหลังคารั่ว และยังช่วยป้องกันปัญหาในระยะยาวได้ นอกจากนี้ควรหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ยึดแผ่นหลังคาอยู่เสมอ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

4. บริเวณขอบชนผนัง

ภาพ: การต่อเติมหลังคาโรงรถ

บริเวณขอบหลังคาที่ชนกับผนังบ้าน เป็นจุดที่พบหลังคารั่วได้ง่ายเช่นกัน โดยส่วนใหญ่มักเป็นส่วนที่ต่อเติมออกจากตัวบ้าน เช่น หลังคาโรงจอด เพราะช่างส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงการยึดหลังคาเข้ากับโครงสร้างบ้าน เพื่อป้องกันบ้านทรุดตัว ทำให้หลังคาที่ต่อเติมออกมาไม่แนบกับผนังบ้าน และหากไม่ได้ใช้วัสดุอุดรอยต่อที่มีคุณภาพ เมื่อเจอสภาพอากาศต่าง ๆ วัสดุอุดรอยต่อก็อาจเสื่อมสภาพเร็วขึ้น เป็นสาเหตุให้ต้องมาตามซ่อมหลังคารั่ว

วิธีซ่อมแซม: หมั่นตรวจสอบอยู่เสมอว่ามีวัสดุอุดรอยต่อตรงจุดไหนที่เริ่มเสื่อมสภาพ หากพบควรใช้กาวซิลิโคนยิงประสานร่องรอยต่อให้แน่น โดยควรเลือกใช้วัสดุอุดรอยต่อที่มีคุณภาพสูง มีคุณสมบัติเหมาะกับการใช้งานภายนอก เพื่ออุดหลังคารั่วโดยไม่ต้องกังวลว่าน้ำหนักหลังคาจะไปรั้งกับโครงสร้างบ้าน

5. หลังคาเผยอ

ภาพ: เสาอากาศอาจทำให้กระเบื้องหลังคาเผยอ

อีกหนึ่งสาเหตุที่ไม่ควรมองข้ามเลย คือ หลังคาเผยอ ซึ่งอาจเกิดจากหลังคาที่ติดตั้งกับโครงสร้างบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อถูกลมแรงกระเบื้องหลังคาก็อาจเผยอขึ้นมาได้ หรือหลาย ๆ บ้านที่ติดตั้งเสาอากาศไว้บริเวณหลังคา หรือใช้สลิงยึด อาจทำให้แผ่นกระเบื้องหลังคาถูกดึงรั้ง ส่งผลให้หลังคาเผยอขึ้นได้เช่นกัน เมื่อเจอลมแรงหรือฝนตกหนักก็ทำให้เกิดหลังคารั่วตามมาได้

ภาพ: เปลี่ยนมาติดเสาอากาศหรือจานดาวเทียมที่ผนังบ้าน

วิธีซ่อมแซม: จัดแผ่นกระเบื้องหลังคาที่เผยอขึ้นให้เข้าที่ แล้วใช้ปูน สกรู หรือกาวยึดติดให้แน่น หรือลองเปลี่ยนจุดที่ติดตั้งเสาอากาศเสียใหม่ โดยเปลี่ยนไปยึดกับผนังบ้านหรือเสาบ้าน ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดหลังคาเผยอได้อีกทางหนึ่ง

6. บริเวณรางน้ำตะเข้

ภาพ: รางน้ำตะเข้

เพราะหลังคาเป็นจุดที่รับน้ำฝนโดยตรง และเพื่อให้น้ำไหลไปในทิศทางเดียวกัน จึงต้องมีส่วนที่เรียกว่ารางน้ำตะเข้ซึ่งอยู่บริเวณมุมหรือร่องหลังคา และซ่อนอยู่ภายใต้หลังคา โดยส่วนนี้มักเป็นรางน้ำเล็ก ๆ เมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็อาจมีเศษใบไม้ เศษสิ่งสกปรกเข้าไปติดอยู่ หรืออาจเกิดสนิมและผุกร่อนได้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและทำให้หลังคารั่วได้ง่าย ๆ

วิธีซ่อมแซม: ควรกำจัดใบไม้และสิ่งสกปรกออกจากรางน้ำ เพื่อให้ระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าพบจุดที่รั่วซึมควรใช้วัสดุกันซึมหรือวัสดุอุดรอยต่อแก้ไขไปก่อน แล้วค่อยเรียกช่างมาเปลี่ยนรางน้ำเสียใหม่

7. กันซึมเสื่อมสภาพหรือไม่ได้ทำกันซึมดาดฟ้า

ภาพ: ดาดฟ้าอาคารเสียหาย

สาเหตุของหลังคารั่วอย่างสุดท้าย เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยแต่หลายคนอาจไม่ทันนึกถึง คือ กันซึมหลังคาเสื่อมสภาพ หรือบ้านที่ไม่ได้ทำกันซึมบนดาดฟ้าก็พบปัญหารั่วซึมได้บ่อยเช่นกัน เพราะปูนซีเมนต์และปูนฉาบทั่วไป ไม่สามารถรับน้ำและความชื้นได้เป็นเวลานาน หากไม่ได้ทำกันซึมตั้งแต่ต้นก็ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมอยู่ ๆ ถึงได้มีน้ำหยดลงมาในบ้านได้ แถมถ้าปล่อยไว้นาน ๆ ก็อาจส่งผลเสียถึงโครงสร้างบ้านได้เลยทีเดียว

วิธีซ่อมแซม: ควรทำกันซึมที่หลังคาดาดฟ้าเสียใหม่ โดยใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับทำกันซึมโดยเฉพาะ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักมาพร้อมคุณสมบัติทนต่อสภาพอากาศแบบต่าง ๆ ทนต่อแรงดันน้ำ ไปจนถึงทนต่อรังสี UV ซึ่งเหมาะกับการใช้งานภายนอกได้เป็นอย่างดี และก่อนจะทากันซึมซ่อมหลังคารั่ว อย่าลืมสำรวจว่ามีรอยแตกร้าวตรงจุดไหนบนหลังคาหรือดาดฟ้าหรือไม่ เพราะหากเป็นจุดที่แตกร้าวหนักมาก ก็จะต้องซ่อมแซมให้เรียบร้อยเสียก่อน ไม่เช่นนั้นการทากันซึมก็อาจไม่เพียงพอก็เป็นได้

สำหรับใครที่ยังงงอยู่ว่าหน้าฝนนี้ควรจะซ่อมหลังคารั่วกันอย่างไรดี NocNocสรุปมาให้ทุกคนแล้ว ว่าควรเลือกวิธีไหนซ่อมหลังคาให้ตรงกับจุดที่รั่วซึม ไปดูกันได้เลย!

หน้าฝนที่จะถึงนี้ไม่ต้องกลัวว่าจะมีน้ำหยดในบ้านอีกต่อไป ถ้าซ่อมหลังคารั่วตามจุดต่าง ๆ ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ และเพื่อป้องกันการรั่วซึมก็อย่าลืมหมั่นเช็คสภาพหลังคาที่บ้านอยู่เสมอ ว่ามีจุดไหนเริ่มเสื่อมสภาพหรือเสียหายหรือไม่ เพื่อให้พร้อมกับสภาพอากาศ ลมพายุต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยปกป้องทั้งคนในบ้านจากอันตราย และปกป้องโครงสร้างบ้านจากความเสียหายที่อาจลุกลามใหญ่โตได้

สำหรับใครที่อยากซ่อมหลังคารั่วอย่างมีคุณภาพ คลิกเข้ามาได้เลยที่ NocNoc เรามีช่างซ่อมที่มีประสบการณ์มาช่วยอุดหลังคารั่วให้หายเป็นปลิดทิ้ง ใครที่กังวลว่าจะได้ช่างไม่มีมาตรฐาน เราก็มีรีวิวจากผู้ใช้งานจริง ลืมไปเลยเรื่องช่างทิ้งงานกลางทางหรืองบประมาณบานปลาย เพราะการชำระเงินผ่านทาง NocNoc หลังงานเสร็จเรียบร้อย ช่วยให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าจะได้งานช่างที่มีคุณภาพเสร็จตามเวลาที่กำหนด ชำระเงินง่ายผ่านคิวอาร์โค้ด Internet Banking หรือบัตรเครดิต และยังมีทีมงานของเราพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกขั้นตอน เพื่อให้ทุกคนได้สร้างบ้านใฝันให้เป็นจริง เคาะ จบ ทุกเรื่องบ้านที่ NocNoc

บทความที่เกี่ยวข้อง