• Knowledge

คนรักรถต้องรู้! ทําหลังคาโรงรถแบบไหนดี ทนแดดทนฝน ปกป้องรถได้เต็มที่

  • โดย NocNoc Writer

  • 27

NocNoc สรุปให้ 

  • การทำหลังคาโรงรถเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยปกป้องรถคันเก่งของครอบครัว ให้ปลอดภัยจากแสงแดดที่ทำให้สีซีดจาง ความร้อนที่ส่งผลเสียต่อตัวรถ ไปจนถึงความชื้นที่หากรั่วซึมเข้าตัวรถแล้วก็อาจทำให้เกิดความเสียหายได้
  • แบบหลังคาโรงจอดรถที่ตอบโจทย์ ควรมีรูปแบบที่เหมาะสมกับโครงสร้างบ้านและบริเวณโดยรอบ และควรเป็นวัสดุเข้ากับการตกแต่งบ้าน รวมถึงตรงตามงบประมาณที่ต้องการอีกด้วย

สำหรับคนรักรถแล้ว รถยนต์คู่ใจคันเก่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อออกไปนอกบ้าน นอกจากจะเป็นของคู่ใจประจำตัวแล้ว ยังใช้ทำงาน พาครอบครัวหรือเพื่อน ๆ ไปเที่ยวอีกด้วย การทําหลังคาโรงรถจึงเป็นการปกป้องรถคันโปรดที่บ้าน ช่วยรักษาสีของรถให้สวย ลดความร้อนที่เข้าสู่ตัวรถ ช่วยให้ใช้งานได้ยาวนานยิ่งขึ้น

นอกจากนี้แบบหลังคาโรงจอดรถบางแบบก็ยังทำให้บ้านเราดูดี สวยงามขึ้นด้วย การออกแบบโรงจอดรถให้เข้ากับตัวบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด ใครที่กำลังวางแผนจะสร้างที่จอดรถในบ้าน ตาม NocNoc ไปหาคำตอบกันได้เลย!

ทำหลังคาโรงรถในบริเวณบ้านดียังไง?

ภาพ: หลังคาโรงจอดรถแบบตั้งเสาใหม่

“รถสวยน่าใช้ มีพื้นที่ทำกิจกรรม บ้านสวยน่าอยู่กว่าเดิม”

  1. ยืดอายุการใช้งานของรถยนต์ แน่นอนว่าสำหรับคนรักรถแล้ว ก็ต้องอยากให้รถยนต์คันเก่งของเรานั้นมีสีสวยสดเหมือนใหม่เสมอ การทำหลังคาโรงรถช่วยป้องกันรถยนต์จากแสงแดด ความร้อน ซึ่งทำให้สีสันของรถยนต์ซีดจางเร็วกว่าที่ควร ทำให้รถของเราดูเก่ามากขึ้น แถมยังช่วยป้องกันน้ำฝนที่อาจรั่วซึมเข้าสู่ตัวรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหาย ต้องเสียเงินซ่อมแซมกันบ่อย ๆ 
  2. เพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมภายนอกบ้าน นอกจากจะช่วยปกป้องรถยนต์แล้ว การทำหลังคาโรงรถยังช่วยเพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมภายในบริเวณบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ เป็นพื้นที่ทำงานบ้านอย่างที่ตากผ้า หรือพื้นที่ซักล้าง ก็ช่วยเพิ่มประโยชน์ใช้สอยในบริเวณบ้านได้
  3. ช่วยตกแต่งบ้านให้สวยงาม หากเลือกใช้วัสดุและรูปแบบหลังคาโรงจอดรถให้เหมาะกับแบบบ้านแล้ว พื้นที่ตรงส่วนนี้ก็จะช่วยเพิ่มความสวยงาม โดดเด่น ให้กับบ้านของเราได้มากยิ่งขึ้นด้วย

 

แล้วจะเลือกหลังคาโรงรถแบบไหนดี ตาม NocNoc ไปดูแบบหลังคาโรงจอดรถ ว่าจะเลือกสร้างในรูปแบบไหนได้บ้าง และแต่ละรูปแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

แบบหลังคาโรงจอดรถสร้างได้กี่รูปแบบ?

1. ทำหลังคาโรงจอดรถแบบตั้งเสาใหม่ทั้งหมด

ภาพ: หลังคาโรงรถแบบสร้างเสาใหม่ทั้งหมด

“เลือกออกแบบได้หลากหลาย ปลอดภัยต่อโครงสร้างบ้าน”

โรงจอดรถแบบตั้งเสาใหม่ทั้งหมด เป็นการทำหลังคาโรงรถแยกออกจากตัวบ้าน โดยตั้งเสารับน้ำหนักใหม่ทั้งหมด ไม่ต้องอาศัยโครงสร้างบ้าน ถือเป็นแบบหลังคาโรงรถที่หลายบ้านชอบทำ เพราะไม่ต้องกังวลว่าโครงสร้างบ้านจะรับน้ำหนักไม่ไหว แต่จะต้องสำรวจพื้นที่ที่จะสร้างให้ดีว่า มีโอกาสที่จะทรุดตัวหรือไม่ เพื่อให้สร้างได้เหมาะกับบริเวณโดยรอบมากที่สุด

 

ข้อดี: แข็งแรง ทนทาน ไม่ต้องอาศัยโครงสร้างบ้านเป็นตัวช่วยรับน้ำหนัก เลือกสร้างได้หลายรูปแบบ 

ข้อเสีย: มีราคาค่าก่อสร้างสูง

2. ทําหลังคาโรงรถแบบยึดกับโครงสร้างบ้าน

ภาพ: หลังคาโรงรถยึดกับโครงสร้างบ้าน

“ประหยัดงบและพื้นที่ก่อสร้าง”

บ้านไหนมีพื้นที่ไม่พอที่จะสร้างจอดรถใหม่ทั้งหมด ควรเลือกโรงจอดรถแบบยึดกับโครงสร้างบ้าน เพราะเป็นแบบหลังคาโรงจอดรถที่สร้างขึ้นจากการตั้งเสารับน้ำหนักด้านหน้า และเชื่อมต่อด้านหลังของหลังคาเข้ากับตัวบ้าน โดยใช้โครงสร้างบ้านเป็นตัวช่วยรับน้ำหนัก การทำหลังคาในแบบนี้จะมีราคาต่ำกว่าการสร้างเสาใหม่ทั้งหมด และยังประหยัดพื้นที่มากกว่าอีกด้วย

 

ข้อดี: ราคาค่าก่อสร้างไม่สูงเท่าแบบตั้งเสาใหม่ทั้งหมด ช่วยประหยัดพื้นที่ในการก่อสร้าง

ข้อเสีย: ปัญหาโครงสร้างบ้านและพื้นที่จอดรถทรุดตัวไม่เท่ากัน ทำให้เสียหายทั้งโครงสร้างบ้านและโรงรถ

3. ทําหลังคาโรงรถแบบหลังคากันสาด

ภาพ: โรงรถแบบหลังคากันสาด

“เสริมกันสาดจากตัวบ้าน เลือกวัสดุมุงหลังคาได้หลายแบบ”

ใครอยากต่อเติมหลังคาให้ยื่นออกจากบ้าน ควรเลือกทำหลังคาโรงรถแบบกันสาด แล้วเลือกใช้วัสดุโปร่งใส เพื่อให้ภาพรวมดูโล่งโปร่ง เช่น อะคริลิก โพลีคาร์บอเนต หรือไฟเบอร์กลาส หรือจะใช้เป็นหลังคากันสาดแบบทึบแสงอย่างเมทัลชีทก็ได้เช่นกัน เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่สำหรับจอดรถอยู่แล้ว แต่การสร้างหลังคาแบบนี้ ต้องดูให้ดีว่าโครงสร้างบ้านรับน้ำหนักได้มากแค่ไหน ถ้าต่อเติมหลังคายาวมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อตัวบ้านได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว

 

ข้อดี: ต่อเติมได้ง่ายตามต้องการ ราคาค่าต่อเติมไม่สูงมากนัก และยังเลือกวัสดุได้ตามต้องการ

ข้อเสีย: หากสร้างหลังคากันสาดยื่นออกจากตัวบ้านมากเกินไป จนโครงสร้างรับน้ำหนักไม่ไหว อาจทำให้ตัวบ้านเสียหายได้

ได้รู้จักกับแบบหลังคาโรงจอดรถกันมากขึ้นแล้ว แต่ถ้าต้องการก่อสร้างหรือต่อเติมไว้ที่บ้าน ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึงอีกหลายด้าน ตาม NocNoc ไปดูกันเลยว่าหากจะทำหลังคาโรงรถควรคำนึงถึงอะไรกันบ้าง?

5 เรื่องควรรู้ก่อนทำหลังคาโรงรถที่บ้าน

1. ขนาดพื้นที่

ภาพ: หลังคาโรงรถควรมีขนาดสัมพันธ์กับรถยนต์

“พื้นที่ต้องเหมาะกับประเภทและจำนวนรถในบ้าน”

ก่อนจะเริ่มทำหลังคาโรงรถใหม่ ควรดูก่อนว่าเราอยากจะตั้งโรงรถไว้ตรงส่วนไหนของบ้าน เช่น ด้านข้าง หรือด้านหน้าบ้าน โดยควรเลือกพื้นที่ที่มีความกว้างและยาวที่เหมาะสม โดยขนาดพื้นที่จอดรถที่เหมาะสมจะมีขนาดดังต่อไปนี้

ประเภทรถ จำนวน พื้นที่ (กว้างและยาว)
รถยนต์คันเล็ก 1 คัน ไม่น้อยกว่า 2.4 x 5 เมตร
รถกระบะ รถ SUV หรือรถขนาดใหญ่แบบอื่น 1 คัน 2.8 x 5.5 เมตร
รถยนต์ทั่วไป กระบะ และรถ SUV 2 คัน 5.5 x 6 เมตร

2. ความแข็งแรงของพื้นที่ที่จะทำหลังคาโรงรถ

ภาพ: สภาพพื้นควรรับน้ำหนักได้ดี

“พื้นต้องรับน้ำหนักได้ดี ไม่เสี่ยงทรุด”

ควรตรวจสอบพื้นที่บริเวณที่จะทำหลังคาโรงรถทั้งโครงสร้างพื้นและโครงสร้างบ้าน ว่ามีความแข็งแรง รับน้ำหนักได้มากแค่ไหน เพื่อนำไปตัดสินใจว่าจะเลือกทำหลังคาโรงรถแบบไหนดี เพราะหากสภาพโครงสร้างบ้านไม่พร้อมรับน้ำหนัก แต่เราเลือกแบบหลังคาโรงจอดรถที่ยึดกับโครงสร้างบ้าน ก็อาจทำให้โครงสร้างบ้านเสียหาย และเป็นอันตรายต่อคนในบ้านได้ หรือหากทำหลังคาโรงรถบนพื้นที่ที่มีโอกาสทรุดตัวสูง ก็อาจเสี่ยงต่อความเสียหายที่ยากจะแก้ไขได้ในอนาคต

3. เลือกใช้วัสดุที่ตอบโจทย์การใช้งาน

ภาพ: หลังคาเมทัลชีท

“เลือกวัสดุให้เข้ากับงบและรูปแบบบ้าน”

วัสดุทำหลังคาโรงรถนั้นมีให้เลือกหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเมทัลชีท ไวนิล uPVC ไฟเบอร์กลาส โพลีคาร์บอเนต หรือะคริลิก ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับงบประมาณ การบำรุงรักษา และรูปแบบการใช้งาน ดังนั้นเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด ควรเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของวัสดุแต่ละแบบ และเลือกให้เข้ากับงบประมาณที่มีอยู่ และรูปแบบการใช้งานให้มากที่สุด

หาความรู้เรื่องวัสดุโรงจอดรถอ่านต่อที่ >> เรื่องต้องรู้! กับการออกแบบโรงจอดรถให้ตอบโจทย์

4. รูปแบบที่เข้ากับตัวบ้าน

ภาพ: หลังคาโรงจอดรถอะคริลิกแบบโปร่งแสง

“โปร่งแสง ทึบแสง ต้องดูตัวบ้านก่อน”

นอกจากการใช้งานที่ตอบโจทย์แล้ว รูปแบบหลังคาโรงจอดรถที่เข้ากับตัวบ้านก็สำคัญไม่น้อย โดยวัสดุทำหลังคาโรงรถนั้นมีให้เลือกทั้งแบบทึบแสง และแบบโปร่งแสง ซึ่งเมื่อติดตั้งออกมาแล้วก็จะได้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปด้วย โดยสามารถเลือกใช้ได้ดังต่อไปนี้

  • แบบหลังคาโรงจอดรถทึบแสง เช่น เมทัลชีท uPVC ไวนิล ไฟเบอร์กลาส เป็นวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน มีสีสันให้เลือกหลากหลาย เหมาะกับการติดตั้งให้กลมกลืนกับหลังคาบ้าน 
  • แบบหลังคาโรงจอดรถโปร่งแสง เช่น ไฟเบอร์กลาส โพลีคาร์บอร์เนต อะคริลิก เป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา แต่แข็งแรงทนทาน ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี เพราะมีลักษณะโปร่งแสง จึงเหมาะกับการทำหลังคาโรงรถในบ้านสไตล์โมเดิร์นได้ดี

5. งบประมาณ

ภาพ: ควรคำนวณงบประมาณที่ใช้ให้ดี

“เผื่องบไว้หน่อย เผื่อมีเรื่องผิดพลาด”

สุดท้าย คือ เรื่องงบประมาณที่ใช้ทำหลังคาโรงรถ เพราะงบประมาณจะเป็นตัวกำหนดขนาดโรงรถ แบบหลังคาโรงจอดรถ วัสดุที่ใช้ทำ ไปจนถึงช่างผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาต่อเติมหลังคาโรงรถให้กับบ้านเรา โดยควรคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดและเผื่องบประมาณไว้เล็กน้อย เผื่อกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องระหว่างก่อสร้าง จะได้ไม่ต้องกลัวว่างบจะบานปลายเกินเหตุ

ไม่ใช่แค่เรื่องก่อสร้างที่ต้องดูให้ดี ถ้าบ้านไหนอยากจะต่อเติมหลังคาโรงจอดรถ มีเรื่องที่ควรจะเตรียมตัวไว้ก่อน จะมีอะไรที่ควรรู้บ้าง ไปดูกัน!

รวมเรื่องน่ารู้สำหรับบ้านที่อยากต่อเติมโรงรถ

1. เป้าหมายที่จะต่อเติม

ภาพ: การติดตั้งแท่นชาร์จในบ้าน

“ดูก่อนว่าอยากต่อเติมโรงจอดรถเพราะอะไร”

ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่าทำไมถึงอยากจะต่อเติมโรงจอดรถในบริเวณบ้าน เช่น เพื่อป้องกันรถจากแสงแดด ลมฝน หรืออยากเพิ่มที่เก็บของ อุปกรณ์ทำความสะอาดรถ หรือบ้านไหนเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า ก็อาจจะต้องทำโรงจอดรถที่มีแท่นชาร์จได้เหมือนกัน ดังนั้นควรดูว่าเป้าหมายของบ้านเราอยากจะใช้ที่จอดรถทำอะไรบ้าง จะได้ออกแบบได้ตอบโจทย์ครบทุกความต้องการ

2. ดูเรื่องกฎหมาย

ภาพ: กฎหมายการก่อสร้าง

“เช็กกฎหมายข้อบังคับให้ครบด้วย”

ไม่ใช่แค่ว่าอยากต่อเติมแล้วจะทำได้เลย แต่ต้องดูเรื่องกฎหมายด้วย โดยกฎหมายการก่อสร้างในประเทศไทยมีกำหนดเรื่องระยะร่นของโครงสร้างที่ต้องเว้นจากเขตที่ดิน ตัวอย่างเช่น 

  • ผนังที่มีช่องเปิดต้องอยู่ห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร สำหรับบ้านที่สูงไม่เกิน 9 เมตร
  • ผนังทึบต้องห่างจากเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 0.5 เมตร ยกเว้นได้รับการยินยอมจากเพื่อนบ้าน​
  • ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นก่อนการก่อสร้าง ถ้าเป็นการต่อเติมที่มีพื้นที่เกิน 5 ตารางเมตร หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

3. โครงสร้างบ้าน

ภาพ: การต่อเติมหลังคา

“ควรให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบโครงสร้าง”

บ้านไหนเพิ่งสร้างได้ไม่นานมีแปลนชัดเจน ให้วิศวกรมาช่วยตรวจสอบเพิ่มเติมได้ว่า บ้านรับน้ำหนักจากการต่อเติมได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็นบ้านมือสองอาจจะประเมินได้ยากกว่า ควรเลือกสร้างโรงจอดรถแยกออกไปจะปลอดภัยกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นบ้านแบบไหน ก็ควรจะให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยตรวจสอบจะดีที่สุด

4. การออกแบบพื้นที่

ภาพ: ลานจอดรถนอกบ้าน

“คำนวณพื้นที่ให้ดี ๆ ก่อนเริ่มต่อเติมโรงจอดรถ”

อย่างที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่าการออกแบบพื้นที่โรงจอดรถ ควรจะดูตามประเภทและจำนวนรถ ดังนั้นการต่อเติมก็เหมือนกัน ที่ควรจะเผื่อพื้นที่ด้านข้างไว้ด้วย เพื่อให้เปิดประตูรถได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่คำนวณพื้นที่ที่จะใช้งานไว้ก่อน พอต่อเติมมาแล้วก็อาจจะกลายเป็นว่าไม่คุ้มต่อการลงทุนได้

หาวัสดุหรือหาช่างทำโรงจอดรถ ก็มีให้เลือกครบที่ NocNoc

เพื่อให้ทําหลังคาโรงรถได้อย่างแข็งแรง ทนทาน นอกจากจะต้องออกแบบและเลือกวัสดุที่มีคุณภาพแล้ว เรื่องช่างก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าเลือกช่างที่ไม่มีประสบการณ์ ก็อาจได้หลังคาโรงจอดรถที่ไม่ได้มาตรฐาน มีโอกาสเสียหายได้ง่ายมากขึ้น ส่งผลให้ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมมากยิ่งขึ้นไปอีก แถมยังเสี่ยงที่จะได้ช่างที่ทิ้งงานกลางทาง หรือช่างที่คิดค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทำงานที่รวม ๆ แล้วก็ไม่น้อยเลยทีเดียว

สำหรับคนรักรถคนไหนที่ต้องการทำหลังคาโรงรถดี ๆ ไว้ปกป้องรถคันเก่ง และกำลังหาช่างผู้เชี่ยวชาญตัวจริง มีประสบการณ์ แถมยังไว้ใจได้ว่าจะไม่ทิ้งงานกลางทาง คลิกเข้ามาได้เลยที่ NocNoc Home Solution เราได้รวบรวมช่างผู้มีประสบการณ์ที่พร้อมจะช่วยทำหลังคาโรงรถคุณภาพให้กับทุกบ้าน รับประกันงานนานสูงสุด 12 เดือน* พร้อมด้วยสินค้าอีกมากมายที่ตอบโจทย์ทุกเรื่องบ้าน เพราะเรื่องบ้าน เลือกจนกว่าจะชอบ

*ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน

ติดตามโปรโมชั่นเด็ดและสาระดี ๆ เรื่องบ้านได้ที่

💚LINE: lin.ee/27iSjiz

💙Facebook : facebook.com/nocnocth

🖤TikTok: tiktok.com/@nocnocth

💜Instagram: instagram.com/nocnocth/

💙Twitter: twitter.com/NocNocTH

❤️Youtube: youtube.com/nocnocth

NocNoc Writer

กองบรรณาธิการ NocNoc ที่อยากถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับบ้าน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนสามารถสร้างบ้านในฝันให้เป็นจริง