-
Others
-
Home repair
-
Tips&Tricks
-
Knowledge
ติดตั้งรางน้ำฝนอย่างไรให้แข็งแรงทนทาน ฝนตกแรงแค่ไหนก็ระบายทัน!
-
โพสต์เมื่อ 30 Jun 2022
-
โดย NocNoc Writer
-
3
Key Takeaways
- ในช่วงหน้าฝน รางน้ำฝนถือเป็นอีกส่วนหนึ่งของบ้านที่ทำงานหนักไม่แพ้หลังคา เพราะต้องระบายน้ำลงสู่พื้นดิน หากรางน้ำฝนที่บ้านใช้งานได้ไม่เต็มที่ ก็อาจจะระบายน้ำไม่ทัน ทำให้น้ำล้นออกจากรางและกระเซ็นไปยังบ้านข้าง ๆ หรือสาดเข้าตัวบ้านได้
- นอกจากการเลือกรางน้ำฝนให้ตอบโจทย์การใช้งานแล้ว การติดตั้งรางน้ำฝนก็ต้องคำนึงถึงความลาดเอียง การติดตั้งตัวแขวนให้ได้ระยะที่เหมาะสม และอย่าลืมทดสอบการใช้งานหลังติดตั้งเสร็จแล้วด้วย
เข้าสู่ช่วงหน้าฝนกันแบบเต็มตัว นอกจากหลังคาหรือดาดฟ้าบ้านที่จะต้องรับศึกหนักกับฝนฟ้าพายุแล้ว รางน้ำฝนก็เป็นอีกส่วนที่ทำงานหนักไม่แพ้กัน เพราะจะต้องรองรับน้ำที่ไหลลงจากหลังคาให้ไหลต่อไปยังท่อระบายน้ำได้อย่างสะดวก ดังนั้นการติดตั้งรางน้ำฝนอย่างมีคุณภาพ จะช่วยให้บริเวณบ้านปลอดภัยจากความสกปรกที่เกิดจากน้ำฝนไหลลงมาจากหลังคาโดยตรง ทำให้ผนังหรือเฟอร์นิเจอร์รอบ ๆ บ้านเลอะเทอะไม่สวยงาม แถมยังช่วยป้องกันต้นไม้ในสวนเน่าตายเพราะได้รับน้ำมากเกินไปอีกด้วย วันนี้ตาม NocNoc ไปดูกันว่าวัสดุชิ้นนี้จะมีให้เลือกกี่ประเภท วิธีติดรางน้ำฝนเบื้องต้นจะต้องทำอย่างไร และมีข้อควรระวังอะไรกันบ้าง
รางน้ำฝนมีกี่ประเภท
1. อลูมิเนียม
ภาพ: รางน้ำอลูมิเนียม
อยากได้รางน้ำฝนที่ผลิตเป็นชิ้นเดียวมีรอยต่อน้อย ปลอดภัยจากการรั่วซึม อลูมิเนียมถือเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์การทำรางน้ำฝน เพราะทนต่อการกัดกร่อน ไม่ค่อยเกิดสนิม และที่สำคัญมีน้ำหนักเบา จึงขนย้ายไปติดตั้งได้สะดวก แถมยังมีสีสันให้เลือกหลายแบบมากกว่ารางน้ำโลหะประเภทอื่น ๆ
ข้อดี: น้ำหนักเบาแต่แข็งแรงทนทาน ติดตั้งได้สะดวก ปลอดภัยจากปัญหารั่วซึม
ข้อเสีย: มีราคาสูง
2. สแตนเลส
ภาพ: รางน้ำสแตนเลส
ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแรง แถมยังไม่เป็นสนิมแม้โดนน้ำและความชื้นเป็นเวลานาน ต้องสแตนเลส วัสดุชนิดนี้จึงเหมาะกับการนำมาติดตั้งเป็นรางน้ำฝนด้วย โดยควรเลือกสแตนเลสเกรดมาตรฐาน 304 ซึ่งมีคุณสมบัติทนทาน ทนต่อทั้งกรดและด่าง เพื่อให้ใช้งานได้อย่างยาวนาน คุ้มค่าแก่การลงทุน
ข้อดี: แข็งแรง ทนทานมาก ปลอดภัยจากสนิม หากเลือกสแตนเลสเกรดมาตรฐานก็จะใช้งานได้อย่างยาวนาน
ข้อเสีย: อาจเกิดปัญหารั่วซึมบริเวณรอยต่อหากช่างเชื่อมไม่ได้คุณภาพ
3. สังกะสี
ภาพ: รางน้ำสังกะสี
บ้านที่อยากประหยัดงบประมาณในกระเป๋า รางน้ำสังกะสีถือเป็นรางน้ำที่ตอบโจทย์เพราะมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย โดยส่วนใหญ่ช่างจะใช้วิธีนำแผ่นสังกะสีมาเชื่อมให้เป็นรางน้ำ แต่เพราะไม่ใช่รางน้ำที่ผลิตขึ้นสำเร็จ จึงอาจมีปัญหาเรื่องความสวยงาม และปัญหารั่วซึมตามมาได้ หากช่างเชื่อมแผ่นสังกะสีแบบไม่ได้คุณภาพ
ข้อดี: ราคาถูกกว่าวัสดุประเภทอื่น หาซื้อได้ทั่วไป เหมาะกับผู้ที่ต้องการประหยัดงบประมาณ
ข้อเสีย: รูปแบบไม่ค่อยสวยงามมากนัก เสี่ยงต่อการเกิดสนิม และปัญหารั่วซึม
4. เหล็กเคลือบกัลวาไนซ์
ภาพ: รางน้ำเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์
รางน้ำเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์ (Galvanized Steel) เป็นรางน้ำที่ผลิตขึ้นแบบสำเร็จรูปมาจากโรงงาน จึงมั่นใจได้ในเรื่องขนาดและรูปทรงที่มีมาตรฐาน และเพราะเป็นเหล็กเคลือบจึงแข็งแรงทนทานมาก และยังทนทานต่อการกัดกร่อน หรือรอยขีดข่วนที่เกิดจากสิ่งแปลกปลอมที่มาพร้อมน้ำฝน อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบาจึงติดตั้งได้อย่างสะดวก
ข้อดี: ขนาดและรูปทรงได้มาตรฐาน ติดตั้งได้สะดวก รอยต่อสามารถเชื่อมติดกันได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องรั่วซึม
ข้อเสีย: ราคาค่อนข้างสูง หาซื้อได้ยาก
5. พีวีซี (PVC)
ถามหารางน้ำที่มีสีสันให้เลือกหลายแบบตอบโจทย์การแต่งบ้านได้ดี ควรเลือกใช้รางน้ำพีวีซี โดยพีวีซีเป็นพลาสติกคุณภาพสูง ที่ถูกพัฒนาให้แข็งแรงทนทานมากยิ่งขึ้น แถมยังไม่เป็นสนิม จึงเหมาะกับนำมาติดตั้งเป็นรางน้ำที่บ้านเป็นอย่างยิ่ง โดยพีวีซีนั้นมีราคาไม่สูง มีระดับราคาให้เลือกตามเกรด ติดตั้งง่าย อายุการใช้งานก็ยาวนาน
ข้อดี: ราคาไม่สูง ติดตั้งง่าย มีสีสันให้เลือกหลายแบบ
ข้อเสีย: คุณภาพขึ้นอยู่กับระดับราคาที่เลือกใช้
6. ไฟเบอร์กลาส
ภาพ: รางน้ำไฟเบอร์กลาส
อีกหนึ่งวัสดุรางน้ำที่เข้ากับบ้านได้หลายสไตล์ คงหนีไม่พ้นรางน้ำไฟเบอร์กลาส ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์อีกประเภทที่นิยมใช้ทำรางน้ำ เพราะทนทานสูง ไม่เป็นสนิม มีจุดเด่นสำคัญที่ไร้รอยต่อ สามารถสั่งทำเป็นชิ้นเดียวได้ โดยเลือกตามความยาวที่ต้องการ แถมยังมีให้เลือกหลายสี ใช้ตกแต่งบ้านได้หลายสไตล์ อายุการใช้งานก็ยาวนานกว่า 10 ปีเลยทีเดียว
ข้อดี: แข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้อย่างยาวนาน และไม่มีรอยต่อ ช่วยป้องกันปัญหารั่วซึม
ข้อเสีย: ราคาค่อนข้างสูง ต้องใช้ช่างเฉพาะทางมาติดตั้ง
ได้รู้จักกับรางน้ำแต่ละประเภทกันไปมากขึ้นแล้ว แต่นอกจากรางน้ำที่ควรรู้จักแล้ว วิธีติดตั้งก็สำคัญไม่แพ้กัน ถึงแม้จะไม่ได้เป็นผู้ติดตั้งเอง แต่ก็ควรทำความรู้จักกับวิธีติดตั้งรางน้ำเบื้องต้นกันไว้ก่อน เพราะเมื่อมีช่างมาติดตั้ง เราก็จะมองเห็นข้อผิดพลาดได้ง่ายขึ้น จะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น ตาม NocNoc มาดูกันได้เลย!
วิธีติดตั้งรางน้ำฝนเบื้องต้นมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
1. สำรวจพื้นที่
ภาพ: เชิงชายหลังคาที่ยังไม่ได้ติดรางน้ำฝน
ก่อนจะเริ่มติดตั้งรางน้ำฝน ต้องเริ่มด้วยการสำรวจพื้นที่ที่จะติดรางน้ำเสียก่อน โดยเฉพาะโครงสร้างหลังคาว่ารับน้ำหนักได้ดีหรือไม่ เพราะโครงสร้างจะต้องรับน้ำหนักทั้งตัวรางน้ำ ตะขอที่ใช้แขวนรางน้ำ และน้ำฝนที่จะไหลลงมา หากโครงสร้างไม่แข็งแรงพอ ก็อาจรับน้ำหนักทั้งหมดนี้ไม่ไหว จนเกิดความเสียหายตามมาได้ง่าย ๆ
2. วัดระดับความลาดเอียง
ภาพ: การตีเชือกวัดระดับความลาดเอียง
ขึ้นชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ระบายน้ำฝน ความลาดเอียงจึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดถึงก่อนติดตั้งรางน้ำฝนด้วย เพราะถ้าความลาดเอียงไม่เพียงพอ ก็จะทำให้น้ำไหลได้ไม่สะดวก ส่งผลให้ระบายน้ำได้ไม่เต็มที่ ควรสร้างแนวเส้นโดยใช้เชือกตีแนวก่อน เพื่อให้ได้ความลาดเอียงที่เหมาะสมมากที่สุด
3. ติดตั้งตะขอแขวน
ภาพ: การติดตั้งตะขอแขวนรางน้ำฝน
หลังได้ระยะที่เหมาะสมแล้ว ก็ติดตะขอสำหรับติดรางน้ำฝน โดยเว้นระยะตามประเภทของรางน้ำฝนแต่ละประเภท ซึ่งจะมีความห่างไม่เท่ากัน แต่รางน้ำฝนแต่ละแบบจะระบุระยะห่างเอาไว้ในคู่มือของวัสดุนั้น ๆ แต่โดยทั่วไปมักจะเว้นระยะประมาณ 60-80 เซนติเมตร
4. ติดรางน้ำ
ภาพ: ติดรางน้ำลงบนตะขอเกี่ยว
ติดตั้งรางน้ำฝนลงบนตะขอที่ติดตั้งไว้ หากเป็นรางน้ำโลหะควรเชื่อมให้ต่อกันไม่มีรอยต่อ แต่ถ้าเป็นวัสดุสังเคราะห์ใช้วัสดุอุดรอยต่อให้เรียบร้อย และเมื่อถึงบริเวณข้อต่อที่เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำลงสู่ด้านล่าง ก็อย่าลืมติดตัวยึดเพิ่มเติม เพื่อความมั่นคงแข็งแรง แม้ปริมาณน้ำเยอะแค่ไหนก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหาย จนต้องมานั่งซ่อมแซมกันในภายหลัง
5. ทดสอบประสิทธิภาพ
ภาพ: การฉีดน้ำลงในรางน้ำ
แม้จะติดตั้งรางน้ำฝนเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ก็อย่าเพิ่งรอให้ฝนตกก่อนแล้วค่อยดูว่าใช้งานได้ดีหรือไม่ ควรทดสอบประสิทธิภาพกันก่อน โดยฉีดน้ำลงบนหลังคาหรือบนรางน้ำ แล้วปล่อยให้น้ำไหลลงไปตามรางน้ำ ถ้าน้ำไหลได้ปกติก็ถือว่าเรียบร้อย แต่ถ้าเห็นจุดรั่วซึมหรือน้ำไหลช้าเกินไป ก็ควรซ่อมแซมให้เรียบร้อย
ข้อควรระวังในการติดตั้งรางน้ำฝน
ภาพ: รางน้ำควรมีความลึกเพียงพอ
- รางน้ำฝนยื่นเข้าไปในเขตเพื่อนบ้าน ระวังเรื่องการติดตั้งรางน้ำฝนแล้วยื่นเข้าไปในเขตบ้านข้าง ๆ แทนที่น้ำจะไหลลงในบริเวณบ้านเรา แต่น้ำกลับไหลหรือกระเซ็นลงไปบ้านข้าง ๆ ได้ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ก็ยังทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านแย่ลงตามไปด้วย จึงควรสำรวจระยะห่างของบริเวณบ้านให้ดีก่อนจะติดรางน้ำกันที่หลังคาบ้าน
- รางน้ำมีขนาดไม่พอดีกับปริมาณน้ำฝน อย่าลืมศึกษาปริมาณน้ำฝนในบริเวณที่อยู่อาศัย โดยดูจากช่วงที่ฝนตกหนักมากที่สุด เพื่อให้เลือกรางน้ำที่กว้างและลึกเพียงพอต่อการรับน้ำ โดยทั่วไปรางน้ำฝนมักจะมีความกว้างประมาณ 4-6 นิ้ว ลึก 3 นิ้ว แต่ถ้าอาศัยอยู่ในบริเวณที่ฝนตกหนักมาก ก็ควรเลือกให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อการรองรับน้ำ ซึ่งจะป้องกันน้ำกระเซ็นไปยังบ้านข้าง ๆ ได้อีกด้วย
เมื่อติดตั้งรางน้ำฝนกันเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมหมั่นทำความสะอาดเศษใบไม้ เศษขยะที่มาพร้อมกับฝนอยู่เสมอ เพื่อให้รางน้ำทำหน้าที่ระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ แม้ฝนตกแรงแค่ไหนก็ไม่ต้องกลัวว่าน้ำจะล้นออกจนน้ำฝนกระเซ็นไปโดนบ้านข้าง ๆ หรือสาดเข้าตัวบ้าน และถ้าใครกำลังมองหาบริการติดรางน้ำฝนให้ได้คุณภาพรับหน้าฝนนี้ คลิกเข้ามาได้เลยที่ NocNoc เรามีช่างผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์พร้อมให้บริการ รวมถึงช่างด้านอื่น ๆ ทั้งช่างปูพื้น ช่างทาสี และช่างด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ที่จะช่วยเปลี่ยนบ้านของคุณให้เป็นบ้านในฝัน ด้วยงบประมาณสบายกระเป๋า ปลอดภัยจากปัญหาช่างทิ้งงานกลางทาง หรืองบประมาณบานปลาย เพราะชำระเงินหลังงานเสร็จ พร้อมด้วยทีมงานให้ความช่วยเหลือตลอดการทำงาน
“
100
-
Tips&Tricks
เคล็ดลับเลือกกระเบื้องปูพื้นบ้าน พร้อม 8 แบรนด์กระเบื้องคุณภาพ
โพสต์เมื่อ 18 Feb 2019
96
-
Knowledge
5 วัสดุปูพื้นในบ้านราคาหลักร้อย
โพสต์เมื่อ 29 Jan 2019
92
-
Home repair
-
+1
คนชอบแต่งบ้านอย่าพลาด! 10 ไอเดียพื้นลามิเนตสีเทา เปลี่ยนบ้านให้โมเดิร์นทันสมัยกว่าที่เคย
โพสต์เมื่อ 03 Mar 2022
88
-
Others
-
+1
มาทำความรู้จักกับ ประตู uPVC ว่าคืออะไรและมีข้อดียังไงบ้าง
โพสต์เมื่อ 20 Oct 2022
86
-
Tips&Tricks
-
+2
ไอเดียปูกระเบื้องระเบียงหน้าบ้านสวย ๆ
โพสต์เมื่อ 21 May 2021