• Home repair

เปลี่ยนพื้นที่แคบข้างบ้าน เป็นมุมพักผ่อนคูลๆ

  • โดย NocNoc Writer

  • 100

เมื่อพูดถึงการตกแต่งปรับปรุงบ้าน เพื่อสร้างบรรยากาศใหม่ๆ นั้น พื้นที่รอบบ้านก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลย เพราะถ้าเราลองจัดสรรกันดีๆ นอกจากจะใช้ประโยชน์ได้เต็มที่แล้ว ยังดูสวยงามเป็นหน้าเป็นตาด้วย บางคนอาจรู้สึกว่ารอบบ้านของเรามีแต่ซอกแคบๆ ไม่เห็นจะมีพื้นที่ให้ตกแต่งเลย แบบนี้ถือว่าเข้าทาง เพราะวันนี้ NocNoc.com จะมานำเสนอไอเดียในการแปลงโฉมพื้นที่รอบบ้านขนาดเล็ก ให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์แสนสวย รับรองว่าคูลจนเพื่อนบ้านต้องอิจฉา!

ไอเดียแปลงโฉมพื้นเก่าด้วย ‘อิฐตัวหนอน’

ตัวอย่างการใช้อิฐตัวหนอนแบบธรรมดา
ตัวอย่างการใช้อิฐตัวหนอนแบบธรรมดา

ขอบคุณภาพจาก: SCG Landscape

อิฐตัวหนอน หรือที่เรียกว่า บล็อกปูพื้นหรือบล็อกคอนกรีต เป็นวัสดุที่ผลิตจากเนื้อคอนกรีตจึงแข็งแกร่ง มีพื้นผิวหยาบและไม่ลื่น  ในสมัยก่อนนิยมใช้ปูพื้นทางเท้าหรือลานหน้าบ้าน มีรูปทรงหยักๆ คล้ายตัวหนอน (บางรุ่นมีช่องให้ปลูกหญ้าตรงกลางคล้ายๆ เลข 8) จึงเป็นที่มาของชื่อ “อิฐตัวหนอน” ทุกวันนี้อิฐตัวหนอน ไม่ได้มีแค่ทรงตัวหนอนแล้ว แต่มีให้เลือกมากมายหลายรูปทรง หลายสีสัน ทั้งยังเอาปูต่อกันเป็นแพทเทิร์นลวดลายต่างๆ ได้ด้วย เหมาะจะใช้ปูพื้นภายนอก เพื่อทำทางเดิน หรือพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับวางโต๊ะเก้าอี้นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ

ตัวอย่างการใช้อิฐตัวหนอนแบบมีช่องปลูกหญ้า
ตัวอย่างการใช้อิฐตัวหนอนแบบมีช่องปลูกหญ้า

ขอบคุณภาพจาก: SCG Landscape

ข้อดีของอิฐตัวหนอน คือ สามารถปูลงบนพื้นดินได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องหล่อพื้น ค.ส.ล. (คอนกรีตเสริมเหล็ก) มารองรับ ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ทรุดตัวง่าย การหล่อพื้น ค.ส.ล. จะต้องเสียเวลาและค่าซ่อมแซมบ่อยๆ การเลือกใช้อิฐตัวหนอนแทนถือเป็นอีกวิธีตอบโจทย์มาก

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับว่า เมื่ออิฐตัวหนอนถ่ายน้ำหนักบนดิน เวลาดินยุบตัว อิฐตัวหนอนก็จะยุบตาม เหมือนที่เราเคยเห็นพื้นปูอิฐตัวหนอนที่บุ๋มยุบเป็นหลุมๆ นั่นเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา  ในขณะเดียวกันเราก็มีวิธีเตรียมพื้นที่ที่ช่วยยืดเวลาการทรุดตัวของดิน และเมื่อถึงเวลาที่พื้นยุบตัว ยังสามารถรื้ออิฐตัวหนอนออกมาเพื่อปรับหน้าดินใหม่ แล้วเอาอิฐตัวหนอนชุดเดิมปูทับลงไปอีกครั้งได้ จะว่าไปแล้วราคาวัสดุอิฐตัวหนอนอยู่ที่ตารางเมตรละ 400-800 บาท แต่สามารถรื้อปูใหม่ได้หลายรอบ ก็นับว่าเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้พอสมควรเลยทีเดียว

การเตรียมพื้นที่ก่อนปูอิฐตัวหนอน
การเตรียมพื้นที่ก่อนปูอิฐตัวหนอน

ไอเดีย ‘ปลูกหญ้า’ สร้างพื้นที่สีเขียวสไตล์สวนหย่อม

ตัวอย่างการปลูกหญ้าเป็นสวนหย่อมเล็กๆ
ตัวอย่างการปลูกหญ้าเป็นสวนหย่อมเล็กๆ

การทำพื้นสนามหญ้า โดยเฉพาะบ้านในเมืองนั้น ช่วยลดความกระด้างของพื้นคอนกรีต ให้บรรยากาศธรรมชาติอย่างแท้จริง ยิ่งถ้ามีการปลูกต้นไม้พุ่มไม้เล็กๆ เพิ่มเติมตามมุมต่างๆ ก็จะกลายเป็นสวนหย่อมขนาดย่อมได้อีกด้วย พื้นที่ที่จะปลูกหญ้าควรเป็นพื้นที่โล่งรับแดด โดยพันธุ์หญ้าที่นิยมในเมืองไทยจะมี หญ้านวลน้อย ซึ่งทนการเหยียบย่ำได้ดี ส่วนหญ้าญี่ปุ่น จะมีใบละเอียดสวยงาม และยังโตช้าทำให้ไม่ต้องเสียเวลามาตัดแต่งกันบ่อยๆ ค่ะ  สำหรับพื้นที่ที่โดนแดดไม่มากจะเหมาะกับหญ้ามาเลเซีย ซึ่งสามารถอยู่ในที่มีแดดรำไรได้

ราคาหญ้าต่อตารางเมตร มีตั้งแต่ 13 บาท ไปจนถึง 25 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดของหญ้าและฤดูกาล (ไม่รวมค่าถมทรายและลงดินเพื่อเตรียมพื้นที่) นับเป็นราคาถูกกว่าการเลือกใช้วัสดุตกแต่งอื่นๆ วิธีการปลูกหญ้าก็ไม่ยุ่งยากมาก เพียงแค่ปรับระดับพื้นด้วยทรายก่อนจะลงดินทับ (โดยให้ดินชั้นบนสุดเป็นดินร่วนที่มีสารอาหารสำหรับหญ้า) จากนั้นก็ลงมือปูหญ้าได้เลย ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้ก็คือ เราจะต้องคอยดูแลรักษาพื้นหญ้าเป็นประจำ ทั้งรดน้ำ ใส่ปุ๋ย และตัดเล็ม มิเช่นนั้นจะพื้นหญ้าจะดูทรุดโทรม ยิ่งถ้าหญ้าขึ้นสูงรกรุงรัง ก็อาจกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของสัตว์อันตรายจำพวกงูเงี้ยวเขี้ยวขออีกด้วย

ไอเดียปู ‘หญ้าเทียม’ ตกแต่งสวน ติดตั้งสบาย ดูแลสะดวก

ตัวอย่างการปูหญ้าเทียมในสวนเล็กๆ
ตัวอย่างการปูหญ้าเทียมในสวนเล็กๆ

ขอบคุณภาพจาก: SCG

หญ้าเทียม เป็นวัสดุใยสังเคราะห์ที่ทำเลียนแบบเส้นหญ้าต่อเนื่องเป็นผืน มีเส้นหญ้าหลายแบบให้ผิวสัมผัสหยาบนุ่มต่างกัน มีสีเขียวหลายโทนให้เลือก ทั้งเขียวเข้ม เขียวอ่อน บางรุ่นเน้นความสมจริงถึงขนาดมีเส้นหญ้าสีน้ำตาลแทรกประปรายด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้าอยากตกแต่งแบบแหวกแนว  ก็มีหญ้าเทียมสีอื่นๆ ให้เลือกใช้ ตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อน สน้ำตาลเข้ม ไปจนถึงโทนสีสันสดใสอย่าง เหลือง แดง น้ำเงิน

ตัวอย่างสีหญ้าเทียมที่มีขายในท้องตลาด
ตัวอย่างสีหญ้าเทียมที่มีขายในท้องตลาด

ขอบคุณภาพจาก: www.scgbuildingmaterials.com

ใครที่อยากจะตกแต่งสวน สร้างพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ข้างบ้านให้รู้สึกสดชื่น แต่ไม่อยากวุ่นวายกับการดูแลรักษา แนะนำให้ใช้หญ้าเทียมแทนหญ้าจริงจะสะดวกมาก เพราะไม่ต้องคอยตัดหญ้า รดน้ำ หรือใส่ปุ๋ย ติดตั้งก็ง่าย แค่วางบนพื้นดินแล้วตอกตะปูยึดที่ขอบ หรือทากาวติดหญ้าเทียมทับลงพื้นคอนกรีตได้เลย  ข้อดีอีกอย่างของพื้นปูหญ้าเทียมก็คือ เวลาฝนตกพื้นเปียกก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีดินมาเปรอะเปื้อนเท้า

การติดตั้งหญ้าเทียม
การติดตั้งหญ้าเทียม

ขอบคุณภาพจาก: www.scgbuildingmaterials.com

ทั้งนี้ การใช้หญ้าเทียมอาจต้องดูแลเรื่องความสะอาดมากกว่าหญ้าจริงอยู่บ้าง  (แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะเราสามารถกวาดเศษขยะ ดูดฝุ่น  เช็ด ฉีดน้ำล้าง  หรือถอดหญ้าเทียมแผ่นเล็กออกมาล้างได้) และเนื่องจากหญ้าเทียมเป็นวัสดุสังเคราะห์ ทำให้เมื่อโดนแดดจะมีความร้อนสูงกว่าหญ้าจริง (ต้องระวังหากเดินเท้าเปล่า) ในการเลือกใช้ ควรเลือกรุ่นที่ทนแดดฝน เหมาะกับการใช้งานภายนอก ราคาหญ้าเทียมสำหรับปูพื้นนอกบ้านมีหลากหลาย ประมาณตารางเมตรละ 200-1,200 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด คุณภาพของวัสดุ และความหนาแน่นในการทอ  ถึงแม้ว่าหญ้าเทียมมีราคาสูงกว่าหญ้าจริง แต่ถ้าจะมองกันในระยะยาวเทียบกับความสะดวกสบายและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาแล้ว บางครั้งการเลือกใช้หญ้าเทียมก็อาจดูคุ้มค่ากว่าได้

หากใครสนใจปรับปรุงพื้นที่ข้างบ้านด้วยหญ้าเทียม ไปอ่านต่อที่ วิธีเลือกหญ้าเทียมให้ถูกใจง่ายๆสไตล์เจ้าของบ้าน ได้เลย

ไอเดียแต่งพื้นอบอุ่นสไตล์ไม้ ‘ไม้จริง ไม้เทียม และ Deck Tile’

ตัวอย่างการใช้พื้นไม้ทำระเบียงเพื่อเป็นมุมพักผ่อนนอกบ้าน
ตัวอย่างการใช้พื้นไม้ทำระเบียงเพื่อเป็นมุมพักผ่อนนอกบ้าน
ขอบคุณภาพจาก: SCG

อีกทางเลือกตกแต่งพื้นนอกบ้านที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นสไตล์ธรรมชาติ คงหนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงพื้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นไม้จริงหรือพื้นไม้เทียม สำหรับพื้นไม้จริงมีข้อได้เปรียบเรื่องความสวยงามที่ดูเป็นธรรมชาติ แต่ก็ต้องดูแลรักษาเป็นประจำ ส่วนไม้เทียมจะมีข้อดีคือปลวกไม่กิน ส่วนเรื่องความสวยงามและสัมผัสที่เป็นธรรมชาติอาจสู้ไม้จริงไม่ได้ รวมถึงมีเรื่องต้องคำนึงในแต่ละวัสดุ เช่น พื้นไม้เทียมไฟเบอร์ซีเมนต์ ต้องใช้ระยะตงถี่กว่าไม้จริง และหากผิวหน้าสีลอกหรือมีรอยขีดข่วนจะเห็นชัดเจน (แต่ก็สามารถใช้สีทาซ่อมได้) ส่วนพื้นไม้เทียม WPC ควรเลือกวัสดุที่มีคุณภาพดี ไม่กรอบแตกง่ายเมื่อโดนแดด เป็นต้น

ตัวอย่างการติดตั้งพื้นไม้จริงบนตงไม้
ตัวอย่างการติดตั้งพื้นไม้จริงบนตงไม้
ตัวอย่างพื้นไม้เทียมไฟเบอร์ซีเมนต์
ตัวอย่างพื้นไม้เทียมไฟเบอร์ซีเมนต์

ขอบคุณภาพจาก: www.scgbuildingmaterials.com

โดยปกติพื้นไม้จริงและพื้นไม้เทียมต้องมีโครงสร้างคานและตงรองรับ หรือจะวางตงบนพื้นคอนกรีตเลยก็ได้ ดังนั้นเราควรคำนึงเรื่องระดับพื้นให้ดี เพราะพอรวมความหนาของโครงสร้างและตัวไม้พื้นแล้ว ระดับพื้นไม้อาจสูงเลยระดับพื้นในบ้านได้  อีกทางเลือกสำหรับพื้นคอนกรีตถ้าเกรงว่าติดตั้งไม้บนตงแล้วพื้นจะสูงเกินไป อาจหันมาติดตั้งพื้นไม้เทียมบนพื้นคอนกรีตโดยใช้กาวซีเมนต์ หรือจะหันมาใช้อีกวัสดุแทน คือ  “Deck Tile” เป็นไม้จริงหรือไม้เทียมที่มาประกอบกันเป็นแผ่นเหมือนกระเบื้อง ข้อดีของ Deck Tile คือติดตั้งง่าย สไตล์ DIY ฉบับเจ้าของบ้านทำเอง โดยสามารถติดตั้งทับได้ทั้ง พื้นคอนกรีต พื้นไม้ หรือพื้นกระเบื้อง

ตัวอย่างการปูพื้นด้วย Deck Tile
ตัวอย่างการปูพื้นด้วย Deck Tile

ราคาพื้นไม้มีความหลากหลายต่างกัน ราคาต่อตารางเมตรของ Deck Tile มีตั้งแต่ 850 บาท ไปจนถึง 3500 บาท  ส่วนราคาพื้นไม้จริงและพื้นไม้เทียมนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งชนิดและคุณภาพของไม้พื้น รวมถึงโครงสร้างและการติดตั้ง อย่างพื้นไม้เทียมอาจอยู่ที่ 1,650 -3,200 บาท รวมทั้งวัสดุค่าติดตั้งแบบวางตงบนพื้นคอนกรีต แต่หากติดตั้งแบบลงเข็มกับพื้นดินจะราคาสูงขึ้น เช่น พื้นไม้เทียมไฟเบอร์ซีเมนต์บางรุ่นรวมค่าติดตั้งและลงเข็ม อาจอยู่ที่ตารางเมตรละ 5,900 บาท เป็นต้น  สำหรับราคาระบบพื้นไม้จริงจะหลากหลายมากกว่า ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ และวัสดุที่ใช้ทำโครง  บางครั้งเมื่อคำนวณค่าวัสดุรวมงานติดตั้งแล้ว อาจมีราคาใกล้เคียงกับระบบไม้เทียมบางรุ่นก็ได้

ไอเดียปูแผ่นทางเดินตกแต่งสวนด้วย ‘แนวหินและไม้ธรรมชาติ’

ตัวอย่างพื้นปูแผ่นทางเดินที่เป็นหินและโรยกรวดล้อมรอบ
ตัวอย่างพื้นปูแผ่นทางเดินที่เป็นหินและโรยกรวดล้อมรอบ

อีกวิธีตกแต่งสวนให้ดูมีชีวิตชีวาในสไตล์ธรรมชาติก็คือ ปูแผ่นทางเดินที่เป็นหินหรือไม้  มีให้เลือกทั้งที่เป็นหินและไม้จริง (เช่น แผ่นศิลาแลง หินภูเขาเมืองกาญจน์ หินทราย ไม้หมอน เป็นต้น) ซึ่งเหมาะกับการแต่งสวนสไตล์ทรอปิคอล  กับอีกแบบหนึ่งคือแผ่นทางเดินสำเร็จรูป  ผลิตจากซีเมนต์หรือหินสังเคราะห์  เหมาะกับการตกแต่งสวนสไตล์วินเทจและโมเดิร์น

แผ่นทางเดินสำหรับตกแต่งสวน เป็นวัสดุที่ติดตั้งง่ายและเตรียมพื้นที่ไม่ยาก เพียงแค่ปรับหน้าดินให้เรียบและใช้ทรายโรยรองหน้าดินอีกชั้น ก่อนจะปูหิน หรือไม้ เป็นแนวทางเดิน  โดยเว้นระยะห่างเพื่อโรยหินแกลบหรือปลูกหญ้าตกแต่งให้สวยงาม ราคาแผ่นทางเดินมีหลากหลายตามขนาดและความยาว  ตั้งแต่แผ่นละ 35 บาท ไปจนถึง 580 บาท แผ่นทางเดินที่เป็นหินจริงหรือไม้จริงจะมีข้อดีเรื่องลวดลายที่ดูแตกต่างกันอย่างเป็นธรรมชาติ และราคาไม่แพง (ยกเว้นไม้หมอนที่เป็นวัสดุไม้จริงจะมีราคาสูง ประมาณ 500-1,200 บาท) ส่วนแผ่นทางเดินสำเร็จรูปที่ผลิตจากคอนกรีตมักมีราคาสูงและอาจดูเป็นธรรมชาติไม่เท่าวัสดุหินหรือไม้จริง  แต่จะได้เปรียบกว่าในเรื่องความแข็งแรงคงทน

ไอเดียปู ‘กระเบื้อง’ แต่งพื้นสวย หลากลาย หลายผิวสัมผัส

ขอบคุณภาพจาก: SCG

เมื่อพูดถึงการปูกระเบื้องสำหรับพื้นนอกบ้าน ส่วนใหญ่เราจะคุ้นเคยกับ กระเบื้องเซรามิก ( หรือคลิกเพื่อรู้จัก กระเบื้องเซรามิก เพิ่มเติม ) สำหรับติดตั้งบนพื้น ค.ส.ล. เนื้อกระเบื้องผลิตจากดินเผา มีสีสันลวดลายและผิวสัมผัสหลากหลาย โดยที่ขายกันในท้องตลาดจะมีหลายประเภทมาก สำหรับพื้นนอกบ้านที่ไม่มีหลังคาคลุม ต้องเผชิญแดดฝนเป็นประจำ จะเหมาะกับกระเบื้องเซรามิกเนื้อพอร์ซเลน ซึ่งทนทานมากและยังดูดซึมน้ำน้อย มีให้เลือกใช้ทั้ง “เกลซพอร์ชเลน” ที่มีการเคลือบสีและลวดลายที่ผิวหน้ากระเบื้อง และ “แกรนิตโต้” (Homogeneous Tile) ซึ่งแข็งแกร่งกว่า และได้เปรียบตรงที่ ถ้าเกิดรอยขีดข่วนจะมองเห็นยาก เพราะเนื้อในและผิวหน้ามีลวดลายต่อเนื่องเป็นเนื้อเดียวกัน

กระเบื้องอีกชนิดที่ใช้ปูพื้นนอกบ้านได้คือ กระเบื้องคอนกรีต ผลิตจากเนื้อคอนกรีตเช่นเดียวกับบล็อกตัวหนอน มีหลายสีหลายรูปทรงให้เลือกใช้ สำหรับพื้นอเนกประสงค์รอบบ้านทั่วไป ที่ไม่ต้องรับน้ำหนักเยอะ สามารถปูกระเบื้องคอนกรีตลงพื้นดินได้โดยไม่ต้องหล่อพื้น ค.ส.ล.

ตัวอย่างพื้นปูกระเบื้องคอนกรีต
ตัวอย่างพื้นปูกระเบื้องคอนกรีต

ขอบคุณภาพจาก: www.scgbuildingmaterials.com

ตัวอย่างพื้นปูกระเบื้องเซรามิก
ตัวอย่างพื้นปูกระเบื้องเซรามิก

ขอบคุณภาพจาก: COTTO

หากพื้นที่ที่ต้องการปรับปรุง เป็นพื้นค.ส.ล. อยู่แล้ว อาจเลือกใช้กระเบื้องเซรามิก ซึ่งมีข้อดีที่ความหลากหลายของลวดลายและสีสัน บางรุ่นทำเลียนแบบลายไม้ หิน ปูนเปลือย ได้สวยงามมาก ข้อสำคัญคือจะต้องเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน โดยเฉพาะความฝืดของผิวหน้า อย่างพื้นภายนอกที่เปียกน้ำบ่อย ควรเลือกแบบผิวหยาบจะได้ไม่ลื่นหกล้มง่าย ในทางกลับกันหากพื้นที่ส่วนนั้นเป็นพื้นดินและอยากจะใช้กระเบื้องเซรามิก จะต้องทำการหล่อพื้น ค.ส.ล. โดยปรับผิวหน้าให้ได้ระดับและกำหนดจุดระบายน้ำที่เหมาะสมก่อน จึงค่อยปูกระเบื้องเซรามิกได้ หรือจะหันมาเลือกวิธีที่ง่ายกว่าคือ ใช้ “กระเบื้องคอนกรีต” ปูบนพื้นดินไปเลย ซึ่งนอกจากจะสะดวกแล้ว ยังมีข้อดีเรื่องความทนทานของเนื้อคอนกรีตและผิวหน้าที่หยาบทำให้ไม่ลื่นเมื่อพื้นเปียก

กระเบื้องเซรามิกมีราคาต่อตารางเมตรที่หลากหลายต่างกันตามชนิดและคุณภาพ โดยจะมีตั้งแต่ 150 บาท ไปจนถึง 900 บาท (ระดับคุณภาพที่แนะนำมีราคาไม่ต่ำกว่า 300-400 บาท) ส่วนราคากระเบื้องคอนกรีตจะอยู่ที่ 750-880 บาท ต่อตารางเมตร ซึ่งเฉลี่ยแล้วอาจดูสูงกว่าราคากระเบื้องเซรามิก แต่กระเบื้องคอนกรีตจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ตรงที่ไม่ต้องหล่อพื้นคอนกรีต และยังรื้อออกมาปูใหม่ได้หลายรอบ

ตารางเปรียบเทียบวัสดุสำหรับแต่งพื้นที่ขนาดเล็กรอบบ้าน